5 เช็กลิสต์ก่อน ลงทุนในอสังหาฯ

ลงทุนในอสังหาฯ

การ ลงทุนในอสังหาฯ หรืออสังหาริมทรัพย์ เป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนในหลายรูปแบบ แต่ต้องเป็นคนใจเย็นในระดับนึง ซึ่งผลตอบแทนที่มักจะได้ในการ ลงทุนในอสังหาฯ ได้แก่ ค่าเช่ารายเดือน และส่วนต่างในการขายต่อ

ซึ่งในสถานการณ์ปัจจุบันที่มีโครงการบ้าน ทาวน์โฮม โฮมออฟฟิศ คอนโดมีเนียมใหม่ผุดขึ้นมามากมาย ก็เป็นโอกาสให้มีนักลงทุนสายอสังหาริมทรัพย์ใหม่เพิ่มขึ้นด้วย โดยหลักสำคัญของการลงทุนอสังหาฯ คือการศึกษาทำความเข้าใจในสิ่งที่จะลงทุนให้ดี

ซึ่งก่อนจะเริ่มลงทุน ลองมาดู 5 เช็กลิสต์ สำรวจความพร้อมก่อนลงทุนในอสังหาริมทรัพย์กันก่อน

สำรวจตลาด ก่อนลงทุนในอสังหาฯ

การลงทุนอสังหาริมทรัพย์ ก็เหมือนกับการทำธุรกิจทุกประเภท ที่ต้องมีการสำรวจตลาด เพื่อดูอุปสงค์-อุปทาน โอกาสความเป็นไปได้ที่จะมีลูกค้ามาเช่า โดยมองจากปัจจัยภายนอกของพื้นที่อสังหาฯ ที่ต้องการลงทุน ทั้งทำเลที่ตั้ง ขนาดของที่อยู่อาศัย ความสะดวกของการเดินทางว่า ตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าหรือไม่

สำรวจผู้เช่า

เราควรต้องรู้แล้วว่า ใครจะเป็นลูกค้าที่มาเช่าทรัพย์สินของเรา ใครจะมีคนมาเช่าตามที่ต้องการ แล้วคนที่มาเช่าจะเป็นใคร ทำงานที่ไหน เดินทางอย่างไร มีชีวิตประจำวัน ไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตอย่างไร รายได้เท่าไหร่ที่จะสามารถจ่ายค่าเช่าห้องให้คุณได้ 

ซึ่งวิธีคิดแบบนี้ มาจากการที่ลงทุนในอสังหาฯไปแล้สแต่กลับไม่มีผู้เช่าหรือซื้อต่อเลย สิ่งที่คิดว่าจะเป็นรายได้กลับกลายมาเป็นการเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายให้กับคุณเอง เพราะนอกจากที่ต้องเสียค่าผ่อนธนาคารเองไปในแต่ละเดือนแล้ว ยังมีต้องเสียค่าซ่อมบำรุงอื่นๆ รวมถึงส่วนกลางเองทั้งหมด แทนที่จะมีผู้เช่าเป็นผู้จ่ายค่างวดให้ทุกเดือน 

มีเงินลงทุนที่ชัดเจน

อสังหาริมทรัพย์ชิ้นงามย่อมเป็นที่หมายปองของนักลงทุนหลายราย โอกาส จังหวะการลงทุนอาจถูกขัดลาภ หากคุณติดปัญหาสภาพคล่องทางการเงินไม่ดี อาจทำให้ต้องชะงักการลงทุน เพราะการอนุมัติสินเชื่อล่าช้าออกไป เพื่อสะสางปัญหาทางการเงินเก่าๆ ซึ่งนั่นหมายถึงการพลาดโอกาสเพราะมีคนอื่นมาซื้อตัดหน้าอสังหาทรัพย์ที่เล็งไว้ ทำให้เสียทั้งเวลาและโอกาสที่จะสร้างกำไรในอนาคต

รับความเสี่ยงได้

การลงทุนอสังหาฯ ก็มีความเสี่ยงเช่นเดียวกับการลงทุนอื่นๆ โดยเฉพาะการที่ต้องใช้เงินลงทุนมูลค่าสูง ส่วนใหญ่ต้องกู้ยืมจากสถาบันการเงิน มีการชำระคืนค่างวดการกู้ยืม และยังมีสภาพคล่องต่ำเนื่องจากไม่ใช่สินทรัพย์ที่ทำการซื้อขาย หรือเช่ายืมได้ในระยะเวลาที่รวดเร็ว เพราะนอกจากการหาลูกค้าที่มีความต้องการสินทรัพย์คุณสมบัติตรงกันแล้ว ต้องผ่านหลายขั้นตอนทั้งเรื่องการทำสัญญา การโอน การกู้ยืม และอื่นๆ ที่ค่อนข้างใช้เวลานานในการดำเนินการ

นอกจากเรื่องของสภาพคล่อง ซึ่งเป็นความเสี่ยงหลักของการลงทุนอสังหาฯ ต้องคำนึงว่าจะมีคนมาเช่าห้องของเราตลอดทุกเดือนหรือไม่ เพราะเมื่อไม่มีการเช่าในเดือนนั้นๆ ค่าใช้จ่ายทั้งหมดจะผลักภาระกลับมาที่ตัวของคุณที่ต้องทำหน้าที่จ่ายค่างวดกับทางธนาคารเอง และยังมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ อย่างค่าเสื่อมโทรมที่เจ้าของเองจะต้องจ่ายเพื่อซ่อมแซมในกรณีที่เป็นห้องคอนโด บ้าน

วางแผนราคาเช่าให้ดี

นักลงทุนจะใช้รูปแบบการกู้สินเชื่อธนาคารมาซื้อแล้วปล่อยให้เช่า โดยใช้ค่าเช่าจากอสังหามาผ่อนชำระธนาคาร โดยเฉพาะคอนโดที่มีกลุ่มตลาดขนาดใหญ่ ยิ่งทำเลใกล้เมืองหรือแหล่งอำนวยความสะดวกแล้ว ก็ยิ่งปล่อยเช่าได้ง่าย ทำให้การปล่อยเช่านี้ต้องมีการกำหนดอัตราการปล่อยเช่าเพื่อให้ได้มาซึ่งค่าเช่าเพื่อนำไปผ่อนชำระกับธนาคาร เมื่อครบสัญญาชำระสินเชื่อกับธนาคารครบก็ได้เป็นเจ้าของอสังหาฯ โดยที่ไม่ต้องออกเงินผ่อนชำระเอง ทั้งนี้ การคิดค่าเช่านอกจากเป็นจำนวนที่จะนำไปผ่อนชำระกับธนาคารแล้ว อาจจะมีการบวกกำไรเพิ่มเติมเพื่อนำมาสะสมเป็นค่าส่วนกลางรายปีได้อีกด้วย โดยมีสูตรการคำนวณอย่างง่าย 2 แบบ ดังนี้

1. คิดค่าเช่าโดยคำนวณตามตารางเมตร

การคิดค่าเช่าตามตารางเมตร คิดได้จากการนำค่าเช่าของห้องที่มีลักษณะใกล้เคียงกันกับห้องของเรา และตั้งอยู่บนทำเลศักยภาพเดียวกัน เช่น ห้องแบบ 1 ห้องนอน ขนาด 40 ตารางเมตร บนทำเลที่ใกล้เคียงกัน ที่ปล่อยเช่าในราคาเดือนละ 20,000 บาท ตก 500 บาทต่อตารางเมตร แล้วนำมาคำนวนตารางเมตรที่คุณปล่อยเช่า

2. คิดจากการเปรียบเทียบอัตราผลตอบแทน (Rental Yield)

ผลตอบแทนของคอนโดในแต่ละพื้นที่จะมีอัตราที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งจะคิดออกมาเป็นเปอร์เซ็นต์ เพื่อหาค่าปล่อยเช่าในแต่ละเดือน หากลองสมมุติราคาคอนโดที่ 3,600,000 บาท และวางอัตราค่าเช่ากลาง ๆ ไว้ที่ 5.5% เราก็จะได้รับผลตอบแทนสูงถึงเกือบ 200,000 บาทต่อปี  หรือ 16,500 บาทต่อเดือน 

สรุป

การลงทุนอสังหาริมทรัพย์เป็นอีกทางเลือกในการลงทุน ที่ต้องมีการศึกษาข้อมูลอย่างรอบด้านเพราะใช้เงินทุนจำนวนมาก โดยมีวิธีการกู้ยืมสินเชื่อกับสถาบันการเงินเพื่อมาใช้ซื้อสินทรัพย์ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นคอนโดที่มีความต้องการของตลาดในปัจจุบัน  ดังนั้น สภาพคล่องและสุขภาพทางการเงินจึงเป็นปัจจัยสำคัญของการขอสินเชื่อ