ชวนเที่ยว 7 มรดกโลกไทย ที่ UNESCO รับรอง อัปเดต 2566

7 มรดกโลกไทย

ล่าสุด เมื่อ เดือน กันยายน 2023 ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 45 ณ กรุงริยาด ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ทำให้ เมืองโบราณศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ เป็น 7 มรดกโลกไทย ที่ UNESCO รับรอง

มรดกโลก คืออะไร ? อัปเดต 2566

กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ได้ให้ข้อมูล ดังนี้ ปัจจุบันเรามักจะได้ยินคนพูดถึง “มรดกโลก” หรือ “World Heritage” กันอยู่เสมอๆ โดยเฉพาะในสถานที่ท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างประเทศ แต่เชื่อว่าแม้จะเป็นที่คุ้นหูเป็นอย่างมาก แต่หลายคนอาจจะไม่ทราบความหมายของคำๆนี้ จึงอยากจะนำมาเล่าสู่กันฟังอย่างง่ายๆ สักหน่อย

คำว่า “มรดกโลก” หรือ “แหล่งมรดกโลก” ก็คือพื้นที่ซึ่งอาจจะเป็น ป่าไม้ ภูเขา ทะเลสาบ สิ่งก่อสร้างต่างๆรวมไปถึงเมือง ที่ได้รับการคัดเลือกจากยูเนสโกว่าเป็นสถานที่ที่มีความสำคัญ มีคุณค่าทางวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ วิทยาศาสตร์หรือด้านอื่นๆ ที่มนุษย์หรือธรรมชาติได้สร้างขึ้นมา และควรได้รับการปกป้องคุ้มครองทางกฎหมายตามอนุสัญญาว่าด้วยเรื่อง “มรดกโลก” ของยูเนสโก เพราะถือว่าสถานที่เหล่านี้แม้จะเป็นทรัยพย์สินของประเทศใดที่มรดกโลกนั้นตั้งอยู่ก็ตาม แต่ก็เป็นสิ่งที่ทรงคุณค่าและเป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษย์อื่นที่จะได้ร่วมกันชื่นชมและช่วยกันอนุรักษ์สืบต่อไปยังอนุชนรุ่นหลัง

แนวคิดเรื่องให้มี “มรดกโลก” นี้เกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ เพราะตอนนั้นหลายๆ ประเทศที่ได้รับผลกระทบจากสงคราม มีความเห็นพ้องต้องกันว่า สงครามนอกจากจะทำลายชีวิตและทรัยพ์สินแล้ว ยังทำลายโบราณสถาน สถานที่สำคัญๆ ทั้งทางประวัติศาสตร์และธรรมชาติไปอย่างน่าเสียดาย และหากไม่มีการปกป้องรักษาสิ่งเหล่านี้ไว้ ในอนาคตคนรุ่นหลังก็จะไม่มีโอกาสเรียนรู้ หรือชื่นชมความงดงามที่คนรุ่นก่อนๆ ได้สร้างสรรค์เอาไว้

องค์การยูเนสโกจึงได้เป็นตัวตั้งตัวตีในการร่างอนุสัญญาว่าด้วยเรื่อง “มรดกโลก” ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ คือ การสร้างความร่วมมือในหมู่ประเทศภาคีในการกำหนดมาตรการที่เหมาะสมทั้งด้านนโยบายการบริหารเทคนิค และการเงินเพื่อสงวน คุ้มครอง และส่งเสริมมรดกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติที่มีความสำคัญต่อมวลมนุษย์ชาติให้คงอยู่ต่อไป โดยได้เริ่มประกาศขึ้นทะเบียนสถานที่ที่เป็นมรดกโลกมาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๑๕

มรดกโลกจะแบ่งเป็น ๒ ประเภท คือ มรดกโลกทางวัฒนธรรม และมรดกโลกทางธรรมชาติ ซึ่งในปีพ.ศ.๒๕๖๒ ที่ผ่านมา มีมรดกโลกกระจายอยู่ใน ๑๖๗ ประเทศทั่วโลก อยู่ ๑,๑๒๑ แห่ง เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม ๘๖๙ แห่ง และเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ ๒๑๓ แห่ง ส่วนอีก ๓๙ แห่งเป็นแบบผสมระหว่างทั้งสองประเภท ประเทศที่มีมรดกโลกมากที่สุดในปัจจุบันคือ จีนและอิตาลี คือ มีถึง ๕๕ แห่ง รองลงมาคือ สเปน (๔๘ แห่ง) เยอรมนี (๔๖ แห่ง) และฝรั่งเศส (๔๕ แห่ง)

สำหรับประเทศไทยเรามีมรดกโลกอยู่ 7 แห่ง โดยการที่จะสถานที่ใดจะเป็นมรดกโลกได้นั้น สิ่งแรกประเทศเจ้าของสถานที่นั้นๆจะต้องเป็นสมาชิกขององค์การยูเนสโก หรือชื่อเต็มๆว่า องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาติ (United Nations Education, Scientific and Cultural Organization – UNESCO) เสียก่อน จากนั้นก็ไปดูว่าสถานที่ที่เราคิดจะเสนอเป็นมรดกโลกนั้น มีคุณสมบัติตรงตามหลักเกณฑ์หรือเปล่า ทั้งนี้ เขาจะมีคณะกรรมการดูแล ตรวจสอบและตัดสิน ก่อนจะประกาศออกมา ซึ่งมีรายละเอียดไม่น้อย จึงจะไม่ขอเล่า ณ ที่นี้ แต่บอกได้ว่าไม่ง่ายเลยกว่าที่ใดที่หนึ่งจะได้รับการขึ้นทะเบียนเป็น “มรดกโลก” 

เป็นมรดกโลกแล้วดีอย่างไร ?

อย่างน้อยที่สุด ประเทศที่เป็นเจ้าของก็จะเกิดความภาคภูมิใจที่เรามีสถานที่ที่มีคุณค่าและความสำคัญระดับโลก อันมีผลต่อการตระหนักรับรู้และช่วยกันอนุรักษ์สถานที่นั้นๆไว้ให้คงอยู่ และสืบทอดต่อไปยังรุ่นลูกรุ่นหลาน และที่สำคัญในปัจจุบันคือ เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่จะนำรายได้มาให้ท้องถิ่น ชุมชน และประเทศชาติอย่างต่อเนื่อง

นอกจาก “มรดกโลก” แล้ว ปัจจุบันยังมีคำอีกคำหนึ่งที่คนส่วนใหญ่ยังจำสับกับคำว่ามรดกโลก นั่นก็คือคำว่า “มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม” ซึ่งองค์การยูเนสโกเองก็มีอนุสัญญาอีกฉบับที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าวเรียกว่า “อนุสัญญาว่าด้วยมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้” (Intangible Cultural Heritage -หรือเรียกย่อๆว่า ICH) เช่นกัน ทั้งมรดกโลกและมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมนั้นต่างหรือเหมือนกันเช่นไร ทำไมคนจึงมักจำสับสนกัน จะได้เล่าสู่กันฟังในโอกาสต่อไป ขอเพียงจำง่ายๆ ไว้ก่อนว่า ที่ใดเป็นมรดกโลก ที่นั้นจะไม่เคลื่อนที่ไปไหน ไม่ว่าจะเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมหรือทางธรรมชาติ หากเมื่อใดที่เคลื่อนที่หรือเคลื่อนย้าย ก็ไม่เรียกว่ามรดกโลก

ชวนเที่ยว 7 มรดกโลกไทย ที่ UNESCO รับรอง อัปเดต 2566

1. นครประวัติศาสตร์ พระนครศรีอยุธยา Historic City of Ayutthaya

ขึ้นทะเบียนมรดกโลกในปี ค.ศ.1991 หรือ พ.ศ.2534

กรมศิลปากร ได้ให้ข้อมูลดังนี้ นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาและเมืองบริวาร (Historic City of Ayutthaya) พระนครศรีอยุธยาเป็นราชธานีเก่าแก่ของไทยที่มีความเจริญรุ่งเรืองยาวนานถึง 417 ปี แม้ว่าภายหลังจะถูกทำลายลงจากภัยสงคราม แต่ยังคงเหลือโบราณสถานและโบราณวัตถุที่เป็นหลักฐานแสดงถึงความเจริญรุ่งเรือง และ ความมีอัจฉริยภาพของบรรพบุรุษของชาวกรุงศรีอยุธยา อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก จากการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ณ กรุงคาร์เทจ ประเทศตูซิเนีย เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2534

กรมศิลปากร ได้ประกาศกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานพระนครศรีอยุธยา ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 93 ตอนที่ 102 ลงวันที่ 17 สิงหาคม พุทธศักราช 2519 พื้นที่ 1,810 ไร่ และในปี พุทธศักราช 2540 กรมศิลปากรได้ประกาศกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานพระนครศรีอยุธยาเพิ่มเติม ซึ่งครอบคลุมเกาะเมืองอยุธยาและพื้นที่รอบนอกเกาะเมืองทุกด้านที่ปรากฏหลักฐานด้านประวัติศาสตร์โบราณคดี รวมพื้นที่โบราณสถานประมาณ 3,000 ไร่

  • ที่อยู่ : เกาะเมืองอยุธยา อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
  • พิกัด : https://goo.gl/maps/BmpLDaf5DwVtTPgn9
  • เปิดให้เข้าชม : 08.30-16.30 น.
  • โทร : 0-3524-2286
  • เว็บไซต์ : https://www.facebook.com/AY.HI.PARK

2. เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร Historic Town of Sukhothai and Associated Historic Towns

ขึ้นทะเบียนมรดกโลกในปี ค.ศ.1991 หรือ พ.ศ.2534

กรมศิลปากร ได้ให้ข้อมูลดังนี้ เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร Historic Town of Sukhothai and Associated Historic Towns เป็นเมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร (Historic Town of Sukhothai and Associated Historic Towns) ประกอบไปด้วยอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย และอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร  ทั้ง 3 เมืองที่เคยมีความรุ่งเรืองในอดีตช่วงใกล้เคียงกัน โดยอาณาจักรสุโขทัยนั้นถือเป็นราชธานีแห่งแรกของไทย เป็นศูนย์กลางความเจริญในช่วงพุทธศตวรรษที่ 18-19

อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย คือ เมืองสุโขทัยเคยเป็นราชธานีของไทยมีความเจริญรุ่งเรือง เป็นศูนย์กลางการปกครอง ศาสนา และเศรษฐกิจ ภายในอุทยานประวัติศาสตร์ มีสถานที่สำคัญที่เป็นพระราชวัง ศาสนสถาน โบราณสถาน โดยมีคูเมือง กำแพงเมือง และประตูเมืองโบราณล้อมรอบอยู่ในรูปสี่เหลี่ยม มีความยาวประมาณ 2 กิโลเมตร กว้างประมาณ 1.6 กิโลเมตรครอบคลุมพื้นที่กว่า 70 ตารางกิโลเมตร มีประตูเมืองอยู่ตรงกลางกำแพงเมืองแต่ละด้าน ภายในยังเหลือร่องรอยพระราชวังและวัด และมีโบราณสถานสำคัญที่จำนวนมากกว่า 30 แห่ง วัดที่ใหญ่ที่สุดคือวัดมหาธาตุ

กรมศิลปากร ได้ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานเมืองเก่าสุโขทัย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2478 ต่อมา ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์โดยกรมศิลปากรด้วยความช่วยเหลือจากองค์การยูเนสโก และเปิดอย่างเป็นทางการในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2531 โดยในวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2534 องค์การยูเนสโกได้ประกาศให้อุทยานแห่งนี้เป็นแหล่งมรดกโลกร่วมกับอุทยานประวัติศาสตร์ที่กำแพงเพชรและศรีสัชนาลัย ปัจจุบันอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของไทย มีผู้เยี่ยมชมหลายแสนคนต่อปี ซึ่งสามารถเดินเท้าหรือขี่จักรยานเที่ยวชมได้

3. เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง Thungyai-Huai Kha Khaeng Wildlife Sanctuaries

ขึ้นทะเบียนมรดกโลกในปี ค.ศ.1991 หรือ พ.ศ.2534

สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ประเทศไทย ได้ให้ข้อมูลดังนี้ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง (Thungyai-Huai Kha Khaeng Wildlife Sanctuaries) เป็นผืนป่าอนุรักษ์ที่มีอาณาเขตกว้างใหญ่ที่สุดของประเทศและของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีพื้นที่รวม 4,017,087 ไร่ หรือกว่า 6,000 ตารางกิโลเมตร เป็นพื้นที่อนุรักษ์ที่เป็นแกนกลางของกลุ่มป่าตะวันตกซึ่งเป็นผืนป่าที่มี ความอุดมสมบูรณ์และมีความหลากหลายทางชีวภาพสูงสุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย 

ด้วยคุณลักษณะที่โดดเด่น ในปี 2534 รัฐบาลไทยจึงได้จัดทำรายงานรวบรวมความสำคัญของป่าผืนนี้ เสนอต่อคณะกรรมการมรดกโลก องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ให้พิจารณาประกาศเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ เพื่อเชิดชูและร่วมกันดูแลรักษาให้เกิดความยั่งยืน 

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออกและตะวันตก มีคุณลักษณะโดดเด่นของพื้นที่ที่มีลักษณะเป็นทุ่งหญ้าขนาดใหญ่อยู่ใจกลางพื้นที่และมีทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่าหลากหลายชนิด และมีเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผางที่อยู่ติดกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก มีความโดดเด่นของลักษณะภูมิประเทศ เป็นเขตป่าอนุรักษ์เพื่อการสงวนและรักษาทรัพยากรธรรมชาติและเป็นผืนป่าตะวันตกที่เป็นต้นกำเนิดของแหล่งมรดกโลก 

จากคุณค่าและความสำคัญของผืนป่ามรดกโลก ที่จะต้องมีการอนุรักษ์พื้นที่ไว้เพื่อรักษาระบบนิเวศให้คงอยู่ ยิ่งในสภาวะการณ์ปัจจุบันมีความต้องการทรัพยากรอย่างยิ่งยวดทั้งพรรณพืช และสัตว์ป่าจากผู้ที่ต้องการหาผลประโยชน์จากทรัพยากรเหล่านี้ ทำให้ผู้ที่รับผิดชอบดูแลทรัพยากรเหล่านี้ต้องทำงานหนักขึ้น นั่นก็คือเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าที่ต้องใช้เวลาเกือบทั้งชีวิตเพื่ออยู่เฝ้าและปกป้องจากผู้ที่ต้องการหาผลประโยชน์จากทรัพยากรเหล่านี้

  • ที่อยู่ : เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี ตาก และกาญจนบุรี
  • พิกัด : https://goo.gl/maps/vZchTXb5AcEPHoPd7
  • เปิดให้เข้าชม : 06.30-15.30 น.
  • โทร : เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง 06-5480-1138
  • เว็บไซต์ : https://www.facebook.com/Huai-Kha-Khaeng-Wildlife-Sanctuary

4. แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง Ban Chiang Archaeological Site

ขึ้นทะเบียนมรดกโลกในปี ค.ศ.1992 หรือ พ.ศ.2535

แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง (Ban Chiang Archaeological Site) เป็นแหล่งโบราณคดีสำคัญแห่งหนึ่ง ตั้งอยู่อยู่ที่อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี ได้ชื่อว่าเป็นถิ่นฐานยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่สำคัญที่ค้นพบในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แสดงให้เห็นขั้นตอนสำคัญของวิวัฒนาการทางวัฒนธรรม สังคม และวิชาการของมนุษย์ รวมทั้งแสดงหลักฐานของการเกษตรกรรม แหล่งผลิตและการใช้โลหะในภูมิภาค ทำให้รับรู้ถึงการดำรงชีวิตในสมัยก่อนประวัตศาสตร์ ย้อนหลังไปกว่า 4,300 ปี ร่องรอยของมนุษย์ในประเทศไทยสมัยดังกล่าว

แสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมที่มีพัฒนาการแล้วในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะด้านความรู้ความสามารถหรือภูมิปัญญา อันเป็นเครื่องมือสำหรับช่วยให้ผู้คนเหล่านั้นสามารถดำรงชีวิต และสร้างสังคมวัฒนธรรมของมนุษย์ได้สืบเนื่องต่อกันมาเป็นระยะเวลายาวนาน วัฒนธรรมบ้านเชียง ได้ครอบคลุมถึงแหล่งโบราณคดีในภาคตะวันออกเฉียงเหนืออีกกว่าร้อยแห่งเป็น

บริเวณพื้นที่ที่มีมนุษย์อยู่อาศัยหนาแน่นมาตั้งแต่หลายพันปีแล้ว ด้วยเหตุนี้เององค์การยูเนสโก ของสหประชาชาติจึงได้ยอมรับขึ้นบัญชีแหล่งวัฒนธรรมบ้านเชียงไว้เป็นแห่ง หนึ่งในบรรดามรดกโลก

แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง ตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านเชียง อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี อยู่ห่างจากตัวจังหวัดไปทางทิศตะวันออกประมาณ 60 กิโลเมตร แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง เป็นแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศไทย

ตั้งอยู่บนเนินดินสูง รูปยาวรี ตามแนวตะวันออก – ตะวันตก ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 400 ไร่ กลางเนินสูงกว่าพื้นที่รอบ ๆ ราว 8 เมตร ราษฎรชาวบ้านเชียงในปัจจุบันมีเชื้อสายลาวพวนที่อพยพเคลื่อนย้ายชุมชนมาจากแขวงเชียงขวางประเทศลาว เมื่อ 200 ปีมาแล้ว

  • ที่อยู่ : หมู่ที่ 13 ถนนสุทธิพงษ์ ตำบลบ้านเชียง อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี
  • พิกัด : https://maps.app.goo.gl/PfaEHHaEQFZ16e1b9
  • เปิดให้เข้าชม : 09.00-16.00 น.
  • โทร : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเชียง 0-4223-5040
  • เว็บไซต์ : https://www.facebook.com/bcnmfinearts

5. กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ Dong Phayayen-Khao Yai Forest Complex

ขึ้นทะเบียนมรดกโลกในปี ค.ศ.2005 หรือ พ.ศ.2548

อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ นับเป็นอุทยานแห่งชาติแห่งแรกของประเทศไทย โดยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรี ในขณะนั้น ได้ประกาศจัดตั้งผืนป่าเขาใหญ่ และพื้นที่ใกล้เคียง ในบริเวณดงพญาเย็นของเทือกเขาพนมดงรัก ให้เป็นอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ในปีพุทธศักราช 2505 และรัฐบาลชุดต่อๆ มา ก็ได้ประกาศให้ป่าทับลาน ป่าปางสีดา และป่าตาพระยาเป็นอุทยานแห่งชาติทับลาน อุทยานแห่งชาติปางสีดา และอุทยานแห่งชาติตาพระยา

ในปีพุทธศักราช 2524 พุทธศักราช 2525 และพุทธศักราช 2539 ตามลำดับ รวมทั้งประกาศให้ป่าดงใหญ่ซึ่งมีอาณาเขตติดต่อกับป่าทับลาน ป่าปางสีดา และป่าตาพระยาให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ในปีพุทธศักราช 2539

จากการประกาศจัดตั้งอุทยานแห่งชาติทั้ง 1 แห่ง และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า 1 แห่ง บริเวณดงพญา-เย็นของเทือกเขาพนมดงรัก ทำให้พื้นที่ป่าบริเวณนี้มีความต่อเนื่องเชื่อมโยงกันเป็นระบบนิเวศตามธรรมชาติขนาดใหญ่ จนได้รับการขนานนามว่า “ผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ (Dong Phayayen-Khao Yai Forest Complex)”

ซึ่งเชื่อว่าสามารถเอื้อต่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพ และก่อให้เกิดประโยชน์นานับประการต่อประเทศ ภูมิภาค และท้องถิ่นอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน ทั้งยังเป็นการสนับสนุนการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในระดับโลก หากมีการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบและถูกหลักการ

แหล่งมรดกโลกเขาใหญ่ ดงพญาเย็นนั้น เป็นผืนป่าที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง มีบทบาทสำคัญต่อการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพทั้งในระดับประเทศ และระดับโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นแหล่งสงวนระบบนิเวศตามธรรมชาติอันหลากหลาย มีสภาพป่าแบบต่าง ๆ ตั้งแต่ป่าดงดิบ ป่าดิบชื้น ป่าดงดิบเขา ป่าดงดิบแล้ง ไปจนถึงป่าเบญจพรรณและป่าเต็งรัง นอกจากนี้ยังมีทุ่งหญ้าเขตร้อนกระจายตัวอยู่ทั่วไป รวมทั้งป่าบนเขาหินปูนและป่าริมห้วยลำธาร

  • ที่อยู่ : พื้นที่บางส่วนในจังหวัดนครราชสีมา สระบุรี นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว และบุรีรัมย์
  • พิกัด : ครอบคลุมพื้นที่ถึง 6 จังหวัด
  • เปิดให้เข้าชม : 08.00-16.30 น.
  • โทร : อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ 08-6092-6529
  • เว็บไซต์ : https://www.facebook.com/KhaoYaiNationalPark1962

6. กลุ่มป่าแก่งกระจาน Kaeng Krachan Forest Complex

ขึ้นทะเบียนมรดกโลกในปี ค.ศ.2021 หรือ พ.ศ.2564

กลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นกลุ่มป่าที่ตั้งอยู่บนเทือกเขาตะนาวศรี (Tenasserim Range) ซึ่งทอดตัวตามแนวชายแดนไทย-พม่า ทิศตะวันตกของกลุ่มป่าแก่งกระจานจึงมีลักษณะเป็นเทือกเขาสูงสลับซับซ้อน เชื่อมต่อเป็นผืนป่าเดียวกันกับป่าในเขตตะนาวศรี (Tanintharyi Region) ของประเทศพม่า

พื้นที่ทั้งกลุ่มป่ารวมประมาณ 2,938,910 ไร่ (4,702 ตร.กม.) ประกอบด้วยพื้นที่อนุรักษ์ 4 แห่ง คือ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน อุทยานแห่งชาติกุยบุรี อุทยานแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติไทยประจัน แต่ทั้งนี้สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ประเทศไทย เลือกดำเนินโครงการอนุรักษ์สัตว์ป่าและพื้นที่ป่าในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานเพราะเป็นพื้นที่อนุรักษ์หลักที่มีความสำคัญที่สุดในกลุ่มป่า

เป็นอุทยานแห่งชาติที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีขนาดพื้นที่ 1,821,688 ไร่ (2,915 ตร.กม.) เป็นพื้นที่ต้นน้ำสำคัญของแม่น้ำเพชรบุรีและปราณบุรี เป็นพื้นที่ที่หลายเขตภูมิพฤกษ์ (Plant Geographical Distribution) มาบรรจบกัน และตั้งอยู่บนรอยต่อของหลายเขตสัตวภูมิศาสตร์ย่อย (Zoogeographical Sub-region)

เป็นศูนย์รวมความหลากหลายทางชีวภาพที่สำคัญและโดดเด่นที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชีย จนได้รับการประกาศเป็นพื้นที่มรดกแห่งอาเซียน ในปี พ.ศ. 2548 มีสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์อยู่หลายชนิด เช่น เสือโคร่ง (Panthera tigris corbetti) และจระเข้น้ำจืด (Crocodylus siamensis) มีรายงานพบสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมมากถึง 100 ชนิด นก 545 ชนิด สัตว์เลื้อยคลาน 112 ชนิด สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ 55 ชนิด และปลา 101 ชนิด

  • ที่อยู่ : พื้นที่บางส่วนในจังหวัดราชบุรี เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์
  • พิกัด : ครอบคลุมพื้นที่ถึง 3 จังหวัด
  • เปิดให้เข้าชม : 08.00-16.30 น.
  • โทร : อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน 0-3277-2311
  • เว็บไซต์ : https://www.facebook.com/Kaengkrachannationalparkofficial

7. เมืองโบราณศรีเทพ Si Thep Historical Park

ขึ้นทะเบียนมรดกโลกในปี ค.ศ.2023 หรือ พ.ศ.2566

กรมศิลปากร ให้ข้อมูลดังนี้ มืองโบราณศรีเทพ ตั้งอยู่ที่ตำบลศรีเทพ อำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ จัดอยู่ในบริเวณเขตที่สูงภาคกลาง  อันเป็นจุดเชื่อมโยงเครือข่ายของการแลกเปลี่ยนสินค้า เส้นทางการค้า และวัฒนธรรมระหว่างพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีความสำคัญมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายต่อเนื่องจนถึงวัฒนธรรมเขมรโบราณ (พุทธศตวรรษที่ 8-18)

ด้วยคุณค่าความโดดเด่นของเมืองโบราณศรีเทพที่มีการพัฒนาขึ้นมาจากชุมชนโบราณในยุคก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย ที่ตั้งอยู่ในบริเวณพื้นที่ลุ่มน้ำลพบุรี-ป่าสัก เมื่อประมาณ 1,700-1,500 ปีมาแล้ว (พุทธศตวรรษที่ 8-10) เมื่อได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมภายนอกโดยเฉพาะวัฒนธรรมอินเดียและวัฒนธรรมเขมรโบราณจึงเกิดการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมเข้าสู่สังคมเมืองในวัฒนธรรมทวารวดี (พุทธศตวรรษที่ 11-16) และวัฒนธรรมเขมรโบราณ (พุทธศตวรรษที่ 16-18) ลำดับพัฒนาการในแต่ละช่วงสมัยของเมืองโบราณศรีเทพแสดงออกถึงความสำคัญของการแลกเปลี่ยนคุณค่าของมนุษย์ในเขตพื้นที่ศูนย์กลางของภูมิภาคตอนในของประเทศไทย ซึ่งเป็นชุมชนหรือเมืองโบราณภายใน (Hinterland) ที่มีความต่อเนื่องทางวัฒนธรรม

มีการเลือกสรรพื้นที่ตั้งของชุมชนหรือเมืองที่สามารถควบคุมหรือเชื่อมโยงเครือข่ายการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม หรือเส้นทางการค้าสมัยโบราณระหว่างพื้นที่ราบลุ่มภาคกลางและที่ราบสูงของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นอกจากนี้อาจรวมถึงพื้นที่ทางด้านตะวันออกและตะวันตกของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกด้วยจึงกล่าวได้ว่าชัยภูมิที่ตั้งของเมืองเป็นจุดสำคัญในเครือข่ายการแลกเปลี่ยนทรัพยากรและการค้าของชุมชนบริเวณใกล้เคียงและภายนอกภูมิภาคมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร

ส่งผลให้เกิดพัฒนาการทางสังคมและวัฒนธรรมในชุมชนและดำรงสถานะเป็นเมืองศูนย์กลางทางการค้าและศูนย์กลางทางศาสนาที่สำคัญแห่งหนึ่งในช่วงสมัยประวัติศาสตร์ตอนต้นของประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กรมศิลปากรตระหนักถึงคุณค่าที่สำคัญดังกล่าว จึงได้ดำเนินการและเตรียมนำเสนอแหล่งมรดกทางวัฒนธรรม เมืองโบราณศรีเทพ เข้าสู่บัญชีรายชื่อเบื้องต้นมรดกโลก (Tentative List) ในปีพุทธศักราช 2562

ล่าสุดในปี 2023 นี้ องค์การยูเนสโก (UNESCO) ประกาศขึ้นทะเบียน เมืองโบราณศรีเทพ เป็นมรดกโลกแห่งใหม่ของประเทศไทย เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2023 ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 45 ณ กรุงริยาด ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ค่ะ ทำให้ เมืองโบราณศรีเทพ เพชรบูรณ์  จีงเป็น มรดกโลกในไทย เป็น แห่งที่ 7

𝐏𝐫𝐢𝐦𝐨 𝐒𝐞𝐫𝐯𝐢𝐜𝐞 𝐒𝐨𝐥𝐮𝐭𝐢𝐨𝐧𝐬

เป็นผู้นำในธุรกิจบริการด้านอสังหาริมทรัพย์สมัยใหม่แบบครบวงจรและกำกับดูแลกิจการในกลุ่มบริษัทในเครือ ให้พัฒนาและเติบโตอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งพัฒนาและลงทุนในธุรกิจสมัยใหม่ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพสูงสุด

𝐒𝐮𝐩𝐞𝐫 𝐋𝐢𝐯𝐢𝐧𝐠 𝐒𝐞𝐫𝐯𝐢𝐜𝐞𝐬, 𝐇𝐚𝐩𝐩𝐲 𝐌𝐚𝐤𝐞𝐫

Tel : 02-0810000

Website: https://primo.co.th/

Line : https://lin.ee/Jt3nhkF