ย้ายทะเบียนบ้าน มีขั้นตอนอย่างไร ?

ย้ายทะเบียนบ้าน

หลังจากซื้อบ้านหรือคอนโดเรียบร้อยแล้ว เราจะได้เอกสารที่เรียกว่า ทะเบียนบ้าน มาจำนวน 1 เล่ม อาจสงสัยว่าสามารถ ย้ายทะเบียนบ้าน ปลายทางได้ไหม ต้องกลับไปเดินเรื่องที่ภูมิลำเนาเดิมหรือไม่ ต้องเตรียมเอกสารอะไร ติดต่อหน่วยงานไหน และมีขั้นตอนอะไรบ้าง เราได้รวมประเด็นเหล่านี้มาให้แล้ว ไปดูกันได้เลย

ย้ายทะเบียนบ้าน จำเป็นไหม

คำตอบสำหรับคำถามนี้ คือ ไม่จำเป็นที่จะต้องย้ายทะเบียนบ้านเข้าบ้านหลังใหม่ หรือไม่จำเป็นที่จะต้องแต่งตั้งใครเป็นเจ้าบ้าน นอกจากคุณมีความจำเป็นหรือมีเหตุให้ต้องย้าย เช่น ต้องการใช้สิทธิ์เลือกตั้ง ต้องการส่งลูกเข้าเรียนโรงเรียนรัฐบาลในเขตนั้น ต้องการประหยัดภาษีธุรกิจเฉพาะจากการขายบ้านหรือคอนโดในอนาคตอันใกล้ เป็นต้น กล่าวโดยสรุปคือในทางกฎหมายแล้ว คุณสามารถปล่อยให้ทะเบียนบ้านว่างได้ โดยไม่จำเป็นต้องมีใครย้ายเข้าทะเบียนบ้านหลังนั้น

แต่ การ ย้ายทะเบียนบ้าน เข้าเขตที่อยู่ใหม่นั้น มีความสำคัญคือจะทำให้เจ้าของบ้านและผู้อยู่อาศัย มีสิทธิ์ได้รับการรักษาพยาบาลในเขตนั้น ๆ รวมถึงมีสิทธิ์ในการเลือกตั้ง อีกทั้งยังมีประโยชน์ในการใช้เป็นเอกสารราชการสำหรับการดำเนินการต่าง ๆ ดังนั้นหากไม่อยากเสียสิทธิ์ที่ควรได้และเป็นการทำตามกฎหมายทะเบียนราษฎร์ ก็ควรทำเรื่องย้ายทะเบียนบ้านให้เรียบร้อย

ย้ายเข้าออก ต้องแจ้งภายในกี่วัน

ไม่ว่าจะเป็นการย้ายเข้า-ออก หรือย้ายปลายทาง เจ้าบ้านจะต้องแจ้งย้ายไปยังที่ว่าการอำเภอ หรือ สำนักงานเขตของพื้นที่ที่จะย้ายภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันที่ย้ายเข้าหรือย้ายออก ถ้าหากพ้นกำหนดเวลาแล้ว ตามกฎหมายให้กำหนดค่าธรรมเนียมในการปรับดังต่อไปนี้

  1. การแจ้งหรือขอที่พ้นกำหนดเวลาตามกฎหมายไม่เกินหกเดือน คิดค่าธรรมเนียม ครั้งละ 30 บาท
  2. การแจ้งหรือพ้นกำหนดเวลาตามกฎหมายเกินหกเดือนแต่ไม่เกินหนึ่งปี คิดค่าธรรมเนียม ครั้งละ 50 บาท
  3. การแจ้งหรือขอที่พ้นกำหนดเวลาตามกฎหมายเกินหนึ่งปี คิดค่าธรรมเนียมเพิ่มจาก (2) แล้วต้องไม่เกิน 500 บาท เศษของเดือนถ้าเกินสิบห้าวันให้นับเป็นหนึ่งเดือน

ดังนั้น เมื่อคุณย้ายเข้าบ้านใหม่แล้ว ควรรีบไปดำเนินการให้เรียบร้อยภายในเวลาที่กำหนด จะได้ไม่ต้องเสียค่าปรับที่ว่ามา

เอกสารที่ต้องใช้ในการย้ายเข้า

โดยการแจ้งย้ายเข้าจะต้องใช้เอกสารทั้งหมดดังนี้

  1. ทะเบียนบ้านฉบับจริง
  2. บัตรประจำตัวประชาชนของเจ้าบ้าน
  3. เอกสารแจ้งย้ายทะเบียนบ้าน (ท.ร. 6)
  4. หนังสือมอบอำนาจ (กรณีที่เจ้าบ้านไม่ได้ดำเนินการเอง)
  5. บัตรประจำตัวประชาชนของตัวแทน (กรณีที่เจ้าบ้านไม่ได้ดำเนินการเอง)

เมือเตรียมเอกสารครบถ้วนแล้วก็สามารถเดินทางไปยังสำนักงานเขต หรือที่ว่าการอำเภอเพื่อดำเนินการแจ้งย้ายเข้าได้เลย

การแจ้งย้ายปลายทาง เตรียมอะไรบ้าง ?

เป็นอีกหนึ่งประการที่สะดวกต่อใครหลายๆคนในการแจ้งย้ายที่อยู่ เพราะสามารถดำเนินการได้ง่ายและสะดวกมากที่สุด โดยผู้ที่สามารถแจ้งย้ายปลายทางได้จะต้องเดินทางไปแจ้งย้ายด้วยตัวเอง และสามารถแจ้งได้เพียงครั้งละ 3 คนเท่านั้น (มีค่าธรรมเนียม 20 บาท) ซึ่งต้องเตรียมเอกสารไปดำเนินการ ณ ที่ว่าการอำเภอดังนี้

  1. ทะเบียนบ้านตัวจริงของบ้านที่จะย้ายเข้า
  2. บัตรประจำตัวประชาชนของเจ้าบ้านที่จะย้ายเข้าอยู่ใหม่ พร้อมหนังสือยินยอมให้เข้าอยู่ในบ้านของเจ้าบ้าน
  3. บัตรประจำตัวประชาชนของผู้แจ้งย้าย
  4. หนังสือมอบอำนาจจากเจ้าบ้าน  บัตรประจำตัวประชาชนพร้อมด้วยสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน ที่ลงชื่อไว้ ทั้งผู้มอบและผู้รับมอบ

ขั้นตอนในการย้ายทะเบียนบ้านปลายทาง

เมื่อเตรียมเอกสารทั้งหมดเรียบร้อยแล้ว คุณก็สามารถทำตามขั้นตอนต่อไปนี้ได้เลย

  1. ยื่นหลักฐานต่อนายทะเบียนท้องที่ที่จะย้ายเข้า
  2. นายทะเบียนตรวจสอบหลักฐานและลงรายการในใบแจ้งการย้ายที่อยู่ จากนั้นให้คุณเสียค่าธรรมเนียมตามที่กำหนด
  3. ใช้เวลาดำเนินการประมาณ 10 นาทีก็เสร็จเรียบร้อย 

เพียงเท่านี้คุณก็จะได้ทะเบียนบ้านเล่มใหม่ที่มีรายชื่อของคุณอยู่ในนั้นแล้ว อย่างไรก็ตาม มีเงื่อนไขเพิ่มเติมในเรื่องของการได้สิทธิ์เป็นเจ้าบ้านดังต่อไปนี้

  • การย้ายทะเบียนบ้านเข้ามาอยู่บ้านที่เพิ่งสร้างเสร็จใหม่ โดยยังไม่มีเจ้าบ้าน ผู้แจ้งย้ายจะเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์บ้านและที่ดินอย่างถูกต้องทันที ดังนั้นถ้าคุณเป็นเจ้าของบ้านตัวจริงก็ควรมาแจ้งย้ายด้วยตนเองจะดีกว่า เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้น
  • การย้ายทะเบียนบ้านโดยที่ไม่ได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์บ้านและที่ดินตั้งแต่แรก จะถือว่าย้ายเข้ามาเป็นเพียงผู้อาศัยเท่านั้น

ถ้าหากคุณต้องการความรวดเร็วเพิ่มเติมในการดำเนินการ ไม่อยากรอคิวนาน สามารถติดต่อลงทะเบียนขอรับบริการล่วงหน้าได้ที่เว็บไซต์ของสำนักบริหารการทะเบียน https://q-online.bora.dopa.go.th โดยสามารถลงทะเบียนล่วงหน้าได้ไม่เกิน 15 วัน และอย่างช้าสุดไม่เกิน 16.00 น. ก่อนวันเข้ารับบริการ

ขั้นตอนการย้ายทะเบียนบ้าน

ในปัจจุบันนี้การแจ้งย้ายปลายทางเป็นวิธีที่นิยมทำกันมากที่สุด เนื่องจากสะดวกทุกฝ่าย ไม่ต้องทำการย้ายออกก่อนเพื่อย้ายเข้า แค่เพียงไปแจ้งย้ายเข้าที่เขตหรืออำเภอปลายทางได้เลย เฉพาะกรณีที่เขตที่ย้ายออกและย้ายเข้าเป็นเขตเดียวกัน ถึงจะต้องดำเนินการย้ายออกก่อนและค่อยดำเนินการย้ายเข้าที่สำนักงานเขตหรืออำเภอเดียวกัน แต่หากเป็นการย้ายข้ามเขต ข้ามอำเภอ ข้ามจังหวัด สามารถทำการย้ายปลายทางได้ทันที

กรณีซื้อบ้านหรือคอนโดใหม่กับโครงการ

หากคุณซื้อบ้านหรือคอนโดใหม่จากโครงการ ทางโครงการจะส่งมอบทะเบียนบ้านเล่มเปล่ามาให้คุณ​ พร้อมกับหนังสือสัญญาซื้อขายและโฉนดหรือสัญญาจำนองกับธนาคาร เอกสารที่คุณต้องใช้ในการย้ายทะเบียนบ้านมีดังนี้

1. บัตรประจำตัวประชาชนตัวจริงและสำเนา

2. ทะเบียนบ้านเดิมตัวจริงและสำเนา (ใช้ในกรณีย้ายออกและเข้าในเขตเดียวกันเท่านั้น กรณีย้ายปลายทางข้ามเขตไม่ต้องใช้ แต่สามารถนำสำเนาไปเผื่อได้)

3. ทะเบียนบ้านใหม่ตัวจริงเล่มเปล่าที่ทางโครงการเตรียมให้

4. หนังสือสัญญาซื้อขายตัวจริงและสำเนา

5. โฉนดหรือสัญญาจำนองกับธนาคารตัวจริงและสำเนา

6. หนังสือมอบอำนาจและสำเนาบัตรประชาชนผู้มอบและผู้รับมอบอำนาจ (กรณีมีผู้กู้ร่วมหรือมอบหมายให้ผู้อื่นเป็นเจ้าบ้านแทน) 

กรณีซื้อบ้านหรือคอนโดมือสอง

หากเจ้าของเก่าไม่เคยย้ายเข้าในทะเบียนบ้านเลย สามารถส่งมอบทะเบียนบ้านเปล่าจากโครงการเพื่อนำไปดำเนินการต่อได้ แต่หากเจ้าของเก่าเคยทำการย้ายเข้าเป็นเจ้าบ้านแล้ว ควรให้เจ้าของเก่าดำเนินการย้ายออกให้เรียบร้อยก่อน และไม่จำเป็นต้องใช้ทะเบียนบ้านเล่มเก่า เนื่องจากทางเขตหรืออำเภอจะออกเล่มใหม่ให้ในกรณีไม่มีเล่มเดิมและเป็นเจ้าบ้านผู้ถือกรรมสิทธิ์คนใหม่ เอกสารที่คุณต้องใช้ในการย้ายทะเบียนบ้านมีดังนี้

1. บัตรประจำตัวประชาชนตัวจริงและสำเนา 

2. ทะเบียนบ้านเดิมตัวจริงและสำเนา (ใช้ในกรณีย้ายออกและเข้าในเขตเดียวกันเท่านั้น กรณีย้ายปลายทางข้ามเขตไม่ต้องใช้ แต่สามารถนำสำเนาไปเผื่อได้)

3. ทะเบียนบ้านใหม่ตัวจริง (ถ้ามี) 

4. หนังสือสัญญาซื้อขายตัวจริงและสำเนา

5. โฉนดหรือสัญญาจำนองกับธนาคารตัวจริงและสำเนา

6. หนังสือมอบอำนาจและสำเนาบัตรประชาชนผู้มอบและผู้รับมอบอำนาจ (กรณีมีผู้กู้ร่วมหรือมอบหมายให้ผู้อื่นเป็นเจ้าบ้านแทน) 

ในปัจจุบันนี้หลายเขตและอำเภอไม่ได้เรียกขอสำเนาเอกสารต่างๆแล้วเพียงแต่ต้องนำเอกสารตัวจริงไปให้ครบ แต่การเตรียมเอกสารให้พร้อมเกินกว่าที่เรียกขอก็จะทำให้เกิดความสะดวกรวดเร็วมากขึ้นกรณีเจ้าหน้าที่ต้องการใช้สำเนาเอกสารเพิ่มเติม 

สามารถเช็คเรื่อง ฮวงจุ้ย ก่อนซื้อคอนโดได้ที่นี่ คลิก

ทำความรู้จักทะเบียนบ้านได้ที่ สำนักทะเบียน